อุปกรณ์สำคัญในระบบทำความเย็นและระบบปรับอากาศ

ถ้าจะพูดถึงระบบทำความเย็น หรือระบบปรับอากาศที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด เครื่องทำความเย็นที่เราคงจะหนีไม่พ้นก็คือ เครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “แอร์” มาจากภาษาอังกฤษที่เรียกกันเต็ม ๆ ว่า Air Conditioner (แอร์คอนดิชั่นเนอร์) และอีกชิ้นหนึ่งที่ทุกบ้านเรือนจะขาดไม่ได้ คือ ตู้เย็น (Refrigerator)

ทั้งสองอย่างที่กล่าวมาด้านบนนี้ นับว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าหลัก ที่หลายๆ คนจะขาดไม่ได้ในโลกปัจจุบัน ทำให้เรามีความสะดวก สบาย มากขึ้น

วันนี้เราลองมารู้จักชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายในอุปกรณ์เครื่องทำความเย็น และปรับอากาศโดยทั่ว ๆ ไป กันก่อนครับ

วงจรการทำความเย็นแบบอัดไอ

วงจรระบบทำความเย็น การทำงานของเครื่องทำความเย็น

อุปกรณ์ต่างๆ และหน้าที่เบื้องต้นในวงจรการทำความเย็นแบบอัดไอ

1. คอมเพรสเซอร์ (Compressor)

คอมเพรสเซอร์ มีหน้าที่ ดูด-อัด สารทำความเย็นในสถานะก๊าซ ทำให้ความดันของน้ำยาสูงขึ้น และเมื่อความดันน้ำยาสูงขึ้น ก็จะทำให้จุดเดือดของสารทำความเย็นสูงขึ้นตาม

คอมเพรสเซอร์ ปรับอากาศ ทำความเย็น

2. คอนเดนเซอร์ (Condenser) หรือ คอยล์ร้อน

คอนเดนเซอร์ มีหน้าที่ควบแน่นสารทำความเย็น คือ เปลี่ยนสารทำความเย็นจากสถานะก๊าซ ให้กลายเป็นของเหลว โดยการแลกเปลี่ยนความร้อนกับอากาศที่ผ่านแผงคอนเดนเซอร์ ในเงื่อนไขที่ว่าอุณหภูมิของอากาศที่มาแลกเปลี่ยนจะต้องต่ำกว่าจุดเดือดของสารทำความเย็น

3. อุปกรณ์ลดความดัน (Expansion Device)

อุปกรณ์ลดความดัน ที่นิยมใช้ในเครื่องปรับอากาศ หรือตู้เย็น จะเรียกว่า แคปทิ้ว (Capillary Tube) มีลักษณะเป็นท่อทองแดงขนาดเล็กๆ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง และความยาวแตกต่างต่างกันตามขนาดของเครื่องทำความเย็น หรือถ้าเป็นแอร์แบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) จะมีการใช้วาล์วแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Expansion Valve) ที่มีความแม่นยำในการควบคุมปริมาณการฉีดสารทำความเย็นมากขึ้น
หน้าที่ของอุปกรณ์ลดความดัน คือ การลดความดันของสารทำความเย็น และเมื่อลดความดันของสารทำความเย็นลงแล้ว จุดเดือดของสารทำความเย็นก็จะลดลงเช่นกัน ทำให้สารทำความเย็นสามารถเดือด และแลกเปลี่ยนความร้อนกับอากาศที่ผ่านแผงคอยล์เย็นได้ ในเงื่อนไขที่ว่าอุณหภูมิของอากาศที่มาแลกเปลี่ยนจะต้องสูงกว่าจุดเดือดของสารทำความเย็น

4. อีวาเปอเรเตอร์ (Evaporator) หรือ คอยล์เย็น

อีวาเปอเรเตอร์ มีหน้าที่ระเหยสารทำความเย็น หรือทำให้สารทำความเย็นเดือดเป็นก๊าซ ในระหว่างที่สารทำความเย็นเดือดเป็นก๊าซนั้น จะมีการดึงพลังงาน หรือความร้อนจากอากาศที่ผ่านเข้าคอยล์เย็นมาใช้ในกระบวนการ ทำให้อากาศที่ผ่านเข้ามาหลังแลกเปลี่ยนความร้อนกันแล้วมีอุณหภูมิลดลง และในส่วนของสารทำความเย็นก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น

5. อุปกรณ์อื่น ๆ

5.1 มอเตอร์พัดลม (Fan Motor) และใบพัด (Fan Blade)

มอเตอร์พัดลมและใบพัด ทำหน้าที่นำพาอากาศรอบข้าง เข้ามาแลกเปลี่ยนพลังงาน หรือความร้อนกับสารทำความเย็นที่คอยล์ร้อน และคอยล์เย็น

มอเตอร์พัดลม

5.2 สารทำความเย็น หรือน้ำยา (Refrigerant)

สารทำความเย็น หรือน้ำยาแอร์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนความร้อน โดยใช้การเปลี่ยนสถานะของสารทำความเย็น ซึ่งการเปลี่ยนสถานะของสารทำความเย็นนี้จะเป็นกระบวนการหลักของการสร้างความเย็นให้กับระบบ

สารทำความเย็น

หากสนใจสินค้าอุปกรณ์ในระบบทำความเย็น ติดต่อเราได้ที่นี่ หรือ โทรหาเราได้ที่ 02-446-5656 ต่อ 3207

ข่าวสารและบทความแนะนำ