4 เคล็ดลับ ช่างแอร์ห่างไกลปลอดภัยจาก แอร์ระเบิด !!

เรามักจะได้ยินข่าวอุบัติเหตุแอร์ระเบิดกันอยู่บ่อย ๆ สาเหตุส่วนใหญ่ ก็มักจะเกิดจากความประมาท ไม่ระมัดระวัง และการเลือกใช้อุปกรณ์ผิดประเภทโดยอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เรามักจะเห็นข่าวช่างแอร์ต้องสูญเสียอวัยวะหรือเลวร้ายที่สุดถึงขั้นเสียชีวิต เราไม่ต้องการเห็นการสูญเสีย เรามี 4 เคล็ดลับมาฝากที่จะทำให้ช่างแอร์ปลอดภัยจากอุบัติเหตุแอร์ระเบิดในการทำงานได้

1. อย่าใช้ความร้อนกับท่อแอร์ทั้งที่ยังมีแรงดันในระบบ

สำหรับงานซ่อมถอดท่อทองแดง หรือ เชื่อมเพื่ออุดรอยรั่ว ถ้าไม่ได้ทำการปล่อยน้ำยาออกจากระบบทั้งหมด แล้วนำเอาเปลวเชื่อมแก็สให้ความร้อนกับท่อ ทำให้แรงดันน้ำยาในระบบขยายตัวมากขึ้น เกิดเป็นแรงดันที่สูงขึ้นมากจนในที่สุดก็เกิดระเบิดขึ้นได้

2. อย่าวางถังน้ำยาแอร์ตากแดดเป็นเวลานาน ๆ และการใช้ถังบรรจุที่ไม่เหมาะสม

การวางถังน้ำยาแอร์ไว้กลางแจ้ง ตากแดดร้อน ๆ เป็นเวลานานต่อเนื่อง ทำให้เกิดความร้อนสะสมส่งผลให้สารทำความเย็นภายในถังมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการขยายตัวตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และทำให้แรงดันน้ำยาภายในถังสูงตามขึ้นไปด้วย ซึ่งถ้าหากถังใบนั้นมีปริมาณน้ำยาแอร์อยู่ภายในมากพอการขยายตัวที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ถังมันระเบิดออกมาได้

3. อย่าอัดแรงดันอ๊อกซิเจนเข้าไปในระบบแอร์

การอัดแรงดันอ๊อกซิเจนเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะโดยปกตินั้นแม้ออกซิเจนไม่มีคุณสมบัติเป็นสารติดไฟได้โดยตรง แต่อ๊อกซิเจนก็มีคุณสมบัติช่วยให้การลุกไหม้ให้เกิดขึ้นได้ดีมากขึ้น ยิ่งความบริสุทธ์ของอ๊อกซิเจนสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งลุกไหม้ได้ดีมากขึ้น และนำอ๊อกซิเจนที่ใช้ในงานเชื่อมโลหะ ก็มีความบริสุทธิ์ที่สูงเกินกว่า 90% เมื่อมันถูกอัดเข้าไปในระบบท่อแอร์ก็จะเข้าไปผสมกับน้ำมันคอมเพรสเซอร์ที่มีอยู่ในระบบกลายเป็นส่วนผสมที่พร้อมจะระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงทันที

4. อย่าอัดแรงดันไนโตรเจนโดยไม่ผ่านอุปกรณ์ควบคุม (เรกูเลเตอร์)

ทุกครั้งที่อัดไนโตรเจน ต้องผ่านเรกูเลเตอร์ทุกครั้งเพราะแรงดันของไนโตรเจนอยู่ที่ 2,000 psi ซึ่งแรคกูเลเตอร์เป็นตัวควบคุมแรงดันไม่ให้แรงดันไนโตรเจนเข้าสู่ระบบมากจนเกินไปเพราะถ้าไม่ผ่านเรกูเลเตอร์จะให้เกิดการระเบิดขึ้นได้เพราะแรงดันที่มากเกินเข้าสู่ระบบ ตัวอย่างเช่น แต่การถ่ายไนโตรเจนมาสู่ถังน้ำยา โดยไม่มีการควบคุมแรงดันให้เหมาะสม ก็มีผลทำให้ถังน้ำยาเกิดระเบิดได้ เพราะถังน้ำยาแอร์ถูกออกแบบให้รองรับกับแรงดันของสารทำความเย็นเท่านั้น โดยทำขึ้นเพื่อรองรับแรงดันในระดับหลักร้อย PSI อย่าที่เราเคยบอกไปว่าแรงดันไนโตรเจนอยู่ที่ 2,000 psi แต่ถ้าหากนำไปใช้แบ่งบรรจุไนโตรเจนโดยที่ไม่มีการปรับแต่งแรงดันให้เหมาะสม เติมเข้าไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ควบคุม เมื่อถังน้ำยารับแรงดันไม่ไหวก็จะระเบิดได้ในที่สุดได้เหมือนกัน

สรุป

ในงานติดตั้งหรือซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ ช่างติดตั้งจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัย ไม่ประมาท หลีกเลี่ยงการกระทำที่มีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อเป็นการป้องกัน และลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน เราหวังว่า 4 เคล็ดลับในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้ช่างแอร์ไม่มากก็น้อย เราจะได้ไม่ต้องได้ยินข่าวเพื่อนร่วมอาชีพต้องสูญเสียกันอีก

ข่าวสารและบทความแนะนำ